รู้จักโครงการ
ที่มาโครงการ
“...ถ้าออกจากโรงพยาบาลเมื่อไรคงจะช่วยได้มากกว่านี้…”
จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ที่ทรงแสดงความห่วงใยต่อปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก แม้ในยามประชวรว่า
“…แม่น้ำป่าสักจะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมากหลายเท่าของความจุอ่าง ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยาก…”
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” จึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ด้วยความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และภาคีเครือข่าย โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา เพื่อน้อมนำศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่นลงสู่การปฏิบัติเพื่อหยุดท่วม หยุดแล้งลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน จนสามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและการขยายผล เริ่มจากการสร้างต้นแบบ ทั้งบุคคล ชุมชน และโรงเรียน แล้วจึงขยายผลออกไปสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ
ทำไมจึงต้องให้ความสำคัญกับ "ลุ่มน้ำป่าสัก"
พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นลุ่มน้ำขนาดกลาง และเป็นสาขาสำคัญของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 10 ล้านไร่ ครอบคลุม 7 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา เลย ชัยภูมิ และพระนครศรีอยุธยา ลุ่มน้ำแห่งนี้มีความลาดชันสูง ทำให้ในฤดูฝน กระแสน้ำไหลหลากจากด้านบนลงพื้นที่ลุ่มด้านล่างอย่างรวดเร็ว จนท่วมและทำความเสียหายให้กับเรือกสวนไร่นาเป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบถึงพื้นที่ในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดังเช่นที่เคยเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ขณะที่ฤดูแล้งก็มักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตร แม้จะได้รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาช่วยเสริมก็ยังไม่เพียงพอ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำจากแม่น้ำป่าสัก (แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2542) โดยสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้สูงสุด 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำฝนจะตกลงในลุ่มน้ำป่าสัก เฉลี่ยปีละ 2,400 - 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ประสบปัญหาตะกอนดินไหลลงมาทับถมกินพื้นที่ความจุอ่างไป อันเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณป่าต้นน้ำ รวมถึงการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ทำให้น้ำฝนไม่สามารถดูดซึมเก็บไว้ใต้พื้นดินได้
คน เครือข่าย ศูนย์เรียนรู้
ตลอดเวลาที่ผ่านมา โครงการฯ ประสบผลสำเร็จในการขยายจำนวน "คน" และ "เครือข่าย" ที่นำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสู่การปฏิบัติจริง โดยเริ่มจากพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก แล้วขยายไปสู่พื้นที่นอกลุ่มน้ำป่าสัก ผ่านกิจกรรมรณรงค์และการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางหรือพลวัตรในการขับเคลื่อน คือ สร้างคน-สร้างเครือข่าย-สู่การสร้างศูนย์เรียนรู้
ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการฯ สอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานฟื้นฟูลุ่มแม่น้ำป่าสัก 9 ปี ซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 ตอกเสาเข็ม (ปีที่ 1-3)
สร้างการรับรู้ และตัวอย่างความสำเร็จหลากรูปแบบ ทั้งบุคคล ชุมชน โรงเรียน สร้างศูนย์การเรียนรู้ 1 ศูนย์ เพื่อวัดการขยายผล - ระยะที่ 2 แตกตัว (ปีที่ 4-6)
ขยายผลระดับทวีคูณ สร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือในการยกระดับศูนย์เรียนรู้ สู่การศึกษาตลอดชีวิต (บ้าน + วัด + โรงเรียน) - ระยะที่ 3 ขยายผลเชื่อมทั้งระบบ (ปีที่ 7-9)
เปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย 5 ภาคีระดับชาติเข้าร่วม (ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน)