โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 7
ในปีที่ 7 ของโครงการฯ ด้วยแนวคิด “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี” ได้นำเรื่องราวความสำเร็จของแม่ทัพแห่งลุ่มน้ำ คนมีใจ และเครือข่ายในลุ่มน้ำต่าง ๆ ที่มีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน มาถ่ายทอดเพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นกรณีศึกษาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนมีใจอื่น ๆ ได้เดินตามรอยพ่อฯ สานต่อศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไปไม่สิ้นสุด และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นขบวน หนุนเสริมให้กำลังใจจนเกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้โครงการฯ ยังใช้การเอามื้อสามัคคี หรือการลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันในการปรับปรุงพื้นที่ สร้างหลุมขนมครก “โคก หนอง นา” ตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การประสานความสามัคคี สร้างเครือข่าย และขยายผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมเอามื้อสามัคคี
กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในปีนี้ ได้เลือกพื้นที่ อ.ภูหลวง จ.เลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีสภาพภูมิสังคมที่เป็นป่า จึงเน้นการพัฒนาแบบวนเกษตร ให้คนกับป่าพึ่งพาและเอื้อประโยชน์ต่อกันโดยไม่ทำลาย และส่งเสริมให้มีการปลูกพืชสมุนไพรที่จะขึ้นในป่าที่มีความสมบูรณ์ จึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมของพื้นที่ โดยสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูงให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกษตร เพื่อเปลี่ยนเขาหัวโล้นมาเป็นเขาหัวจุก และฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก
รายละเอียดกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 7
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562
กิจกรรมการปั่นจักรยานรณรงค์ จากศาลากลาง จ.เลย – อ.วังสะพุง จ.เลย รวมระยะทาง 45 กม. มีนักปั่นร่วมกิจกรรมประมาณ 500 คน ประกอบด้วย นักปั่นสะพานบุญ นักปั่นในพื้นที่ จ.เลย และนักปั่นจากเชฟรอนฯขบวนจักรยานจะแวะพักเพื่อทำกิจกรรมในพื้นที่ของเครือข่ายและคนมีใจ 3 จุด ได้แก่
- จุดแวะพักที่ 1 กิจกรรมปลูกข้าวและฟักทอง ในวิกฤตแล้ง ที่ภู-นา บ้านรักตะวัน อ.เมือง ของ นายปริพนธ์ วัฒนขำ (ไฝ)
- จุดแวะพักที่ 2 กิจกรรมทำเห็ดตะกร้า ปุ๋ยแห้งจากก้อนเห็ด ห่มฟางสร้างแหล่งอาหาร ที่บ้านฟากนา ฟาร์ม สเตย์ อ.เมือง ของ นางสุกัญญา บำรุง (สุ)
- จุดแวะพักที่ 3 กิจกรรมปลูกแฝก ปลูกป่า3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่สวนรุ่งทิพย์ เกษตรอินทรีย์ อ.วังสะพุงของ นางรุ่งทิพย์ ธันขา (รุ่ง)
วันที่ 2-4 สิงหาคม พ.ศ. 2562 กิจกรรมเอามื้อสามัคคีใน 2 พื้นที่ และกิจกรรมทัศนศึกษา 1 พื้นที่
1. กิจกรรมเอามื้อสามัคคี ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง จ.เลย
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงมีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้และพัฒนาเกษตรกรในเรื่องของหลักกสิกรรมธรรมชาติ การทำวนเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ การอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบไปด้วยฐานการเรียนรู้ คือ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ฐานปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ฐานเตาน้ำส้มควันไม้ ฐานการอนุรักษ์ดินและน้ำ (หญ้าแฝก) ฐานพลังงานทางเลือก (แดด ลม น้ำ: โซล่าเซลล์และเตาอบพลังงานแสงอาทิตย์ กังหันลมปั่นไฟ สูบน้ำ และตะบันน้ำ) ฐานสมุนไพรและการแปรรูปสมุนไพรและผลผลิตจากวนเกษตร เช่น หมากเม่าและหมากหลอด เป็นต้น
ที่ผ่านมาศูนย์ได้ทำหนำที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนทั้งใน จ.เลย และต่างจังหวัด โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรที่ทางหน่วยงานราชการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการอบรม นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่น เพื่อรักษาพันธุ์พืชท้องถิ่นที่หายากและกำลังสูญพันธุ์ เช่น ข้าวพื้นบ้านข้าวเหนียวพันธุ์แดงเมืองเลยที่มีต้นกำเนิดสายพันธุ์ที่ จ.เลย และพันธุ์พืชสมุนไพรประจำถิ่น
2. กิจกรรมเอามื้อสามัคคี ณ ไร่นาป่าสวนขุนเลย บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย
ของนายแสวง ดาปะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
มีพื้นที่ 50 ไร่ ย้ายจาก อ.วังสะพุง มาตั้งรกรากที่ อ.ภูหลวง 22 ปีแล้ว เมื่อก่อนเคยทำข้าวโพด และลูกเดือย ที่เปลี่ยนเพราะมีหนี้ อยากปลดหนี้ อยากหาแนวทางการทำไร่ทำสวนนอกเหนือจากการทำพืชเชิงเดี่ยว ปี 43-44 ไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิเลยเพื่อการพัฒนาชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ป่าภูหลวง แล้วกลับมาตั้งกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืน มีสมาชิก 24 คน ค่อย ๆ เปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสานได้แก่ ลิ้นจี่ ลำไย และผักหวาน
ต่อมาขยายแนวคิดไปหมู่ 2 หมู่ 7 ขยายเครือข่ายพัฒนาภูหลวง 4 อำเภอ ได้แก่ อ.วังสะพุง อ.ภูหลวง อ.ภูเรือ อ.ด่านซ้าย มีวิทยากรประจำเครือข่าย 35 คน
ปัจจุบันมีแปลงลิ้นจี่ 14 ไร่ ให้เช่าทำขิง 5 ไร่ ส่วนพื้นที่อีก 30 กว่าไร่ ปลูกสมุนไพร ได้แก่ ขมิ้น เปราะหอม และไพร วางแผนจะปลูกกาแฟ หมากเม่า และพืชอื่น ๆ ผสมผสาน
พื้นที่ทำกิจกรรมเอามื้อ ขนาด 8 ไร่ ออกแบบโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
กิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่ไร่นาป่าสวนขุนเลย คือ ขุดนาขั้นบันได ขุดคลองไส้ไก่ ทำแฝกเสริมไผ่ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดำนาปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง “แดงเมืองเลย”
3. กิจกรรมทัศนศึกษา ป่าต้นน้ำป่าสัก ที่สักหง่า บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย
บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่สักหง่า บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก แล้วไหลผ่าน จ.เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 15,625.87 ตาราง กิโลเมตร ด้วยสภาพพื้นที่ในลุ่มน้ำป่าสักมีความลาดชันสูง กอปรกับการที่ป่าไม้ถูกทำลายไปมากจากการขยายพื้นที่เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดปัญหาดินพังทลาย เกิดการชะล้างหน้าดินทำให้แม่น้ำตื้นเขินจากดินตะกอน ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างรุนแรง
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” จึงจัดกิจกรรมรณรงค์ขึ้นใน จ.เลย ซึ่งเป็นต้นน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยที่สุด ด้วยการนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพภูมิสังคม โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และเพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562
กิจกรรมสื่อสัญจร
พาชมพื้นที่ของนายประวีณ ศิราไพบูลย์พร (ติ่ง) และนางสาวกรองกาญน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย) 2 พี่น้องชาวปกาเกอะญอ และนางปนัดดา ปิ่นเงิน (แดง) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (Integrated Technology Operations KMITL (ITOKmitl) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัย “การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่ได้มีการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ไปแล้ว ให้เป็นระบบและได้มาตรฐานทางวิชาการ โดยนำผลสรุปจากโครงการวิจัยฯ มาประมวลผลในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม และมิติทางสภาพแวดล้อม
กิจกรรมปี 7
โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 7 พ.ศ. 2562