ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โลกทุกวันนี้ เกิดภัยธรรมชาติขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทุกที อีกทั้งวิกฤตโรคระบาดที่มาซ้ำเติม ทำให้ผู้คนตกงาน อดอยาก ขาดแคลนอาหาร คุณภาพชีวิตของประชากรโลกแย่ลง เพราะเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างเกินพอดี เราจึงต้องสร้างความเข้มแข็งจากต้นทุนในบ้านของเราเอง เพื่อให้เราสามารถ “พึ่งพาตนเอง” ได้
สำหรับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทาน “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของสังคมไทย ด้วยการพัฒนาบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท ด้วยทรงตระหนักถึงภัยรอบด้านที่กำลังจะเกิดขึ้นกับคนไทย เพื่อให้คนไทยได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สามารถพึ่งพาตัวเองได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะทำอาชีพใด ทุกคนสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตของตัวเองได้
สำหรับเกษตรกร สามารถเดินตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการสร้างพื้นที่ของเราให้มีของกินและของใช้ที่จำเป็นในชีวิตให้ได้ครบถ้วน ลดการพึ่งพาจากภายนอก เพื่อให้เราอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนก่อน หากมีเหลือ ก็แบ่งปันหรือขายเพื่อสร้างรายได้
ส่วนผู้ที่ทำอาชีพอื่น ๆ ก็ใช้จ่ายให้พอเหมาะกับรายได้ที่เราหาได้ ลดความต้องการส่วนเกิน สร้างรายได้ โดยที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก ไม่แสวงหาความร่ำรวยที่ได้มาจากการเบียดเบียนผู้อื่น ไม่แสวงหา “กำไรสูงสุด” แต่เป็น “ประโยชน์สูงสุด” จากทรัพยากรที่เรามี เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคง สร้างสังคมที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
พัฒนาศักยภาพตนเอง ด้วยการแสวงหาความรู้เพิ่มอยู่เสมอ ด้วย “สติ ปัญญา และความเพียร” จึงเป็นหนทางที่จะทำให้เราฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังคมที่ดีขึ้น และโลกที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ จะไม่ใช่เพียงภาพในอุดมคติ แต่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยพลังสามัคคีจากคนไทยทุกคน