ห่มดิน...เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช

ห่มดิน...เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช

ดิน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต เพราะคนเราใช้ทรัพยากรดินเป็นทั้งที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งสร้างอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค แถมยังใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค จึงกล่าวได้ว่า ดินเป็นทรัพยากรขั้นมูลฐาน เป็นตัวการให้มนุษย์เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรอื่น ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล

การเกษตรที่ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำลายดิน ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อดิน และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงดิน เป็นหัวใจสำคัญที่จะรักษาดินเอาไว้ได้ 

การ “ห่มดิน” หรือ “คลุมดิน” โดยใช้ฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และใส่อาหารให้แก่ดิน ด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไป เพื่อให้อาหารแก่ดิน แล้วดินจะปล่อยธาตุอาหารให้พืช โดยกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์เรียกหลักการนี้ว่า “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช”  

การปฏิบัติเช่นนี้ จะทำให้ดินกลับมามีชีวิต เป็นการ “คืนชีวิตให้แผ่นดิน”

ประโยชน์ของการห่มดิน

  • เป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์
  • เป็นอาหารให้สัตว์หน้าดิน เช่น ไส้เดือน กิ้งกือ ฯลฯ ซึ่งช่วยพรวนดิน และถ่ายมูลเป็นปุ๋ยให้พืช
  • เก็บรักษาความชื้น
  • เมื่อย่อยสลายจะกลายเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นปุ๋ยให้กับพืช 

ประโยชน์ของจุลินทรีย์

  • ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ซึ่งในอากาศมีก๊าชไนโตรเจนอยู่ถึง 78%
  • ช่วยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์
  • ช่วยย่อยแร่ธาตุที่อยู่ในหิน ลูกรัง ทราย เช่น ธาตุอาหาร กลุ่ม เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ฟอสฟอรัส เป็นต้น
  • ช่วยผลิตฮอร์โมนให้พืช
  • ช่วยผลิตสารป้องกันโรคพืช

วิธีการห่มดิน

  • ห่มดินด้วยฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ รอบโคนต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้น โดยเว้นให้ห่างจากโคนต้นไม้ 1 คืบ ห่มหนา 1 คืบ–1 ฟุต ทำเป็นวงเหมือนโดนัท โรยด้วยปุ๋ยคอก (มูลสัตว์) บาง ๆ  และรดด้วยน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำเจือจาง อัตราส่วน 1 : 50-100
  • ห่มดินในที่ดินผืนใหม่ที่เพิ่งขุดปรับพื้นที่ หรือดินที่เสื่อมสภาพ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินก่อนเริ่มการเพาะปลูก ด้วยการห่มฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ ให้หนาอย่างน้อย 1 ฟุต ทั้งแปลง โรยด้วยปุ๋ยคอก แล้วราดรดด้วยน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำเข้มข้น อัตราส่วน 1 : 10

โดยวิธีนี้ เป็นการระเบิดดินที่แห้งแข็ง ให้มีความชุ่มชื้น (ฟางห่มคลุมดินเพื่อลดการระเหยของน้ำในดิน ปุ๋ยคอกที่ใส่เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ น้ำหมักทำหน้าที่ย่อยสลายทั้งปุ๋ยและฟาง ให้กลายเป็นอินทรียวัตถุได้เร็วขึ้น) ซึ่งวิธีนี้อาจต้องใช้เวลา 3 เดือนขึ้นไป โดยยังไม่ควรปลูกพืชใด ๆ เพราะน้ำหมักที่เข้มข้นอาจทำให้ต้นไม้ตายได้


    
ข้อมูลจาก มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ