แท็งก์ยักษ์

แท็งก์ยักษ์

แท็งก์ยักษ์

การเก็บน้ำด้วยแท็งก์ขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านสามารถทำได้เอง​ โดยใช้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น และใช้งบประมาณที่ไม่มากนัก เกิดขึ้นครั้งแรกที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน ​(ชตน.)​ โดยผู้ที่คิดค้นวิธีทำแท็งก์นี้คือ​ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) จึงเรียกกันว่า​ "แท็งก์ยักษ์" ในครานั้นผู้ที่ควบคุมการสร้างคือ​ อาจารย์โจน​ จันใด​ ภายหลังจึงเรียกว่า​ "แท็งก์ยักษ์มาตรฐานโจน" สำหรับเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อที่ชุมชนจะได้มีน้ำกิน น้ำใช้ พอเพียงตลอดฤดูแล้ง​

เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติได้ทำแท็งก์ใช้เองในหลายพื้นที่เช่นที่​ จ.น่าน จ.กาญจนบุรี​ และที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี การสร้างแท็งก์เป็นตัวอย่างที่ดีของการร่วมแรงร่วมใจที่มาเอามื้อลงแขกกันเพื่อสร้างแหล่งเก็บน้ำในชุมชน

การเลือกทำเลสร้างแท็งก์ยักษ์ ควรจะสร้างบนที่สูงกว่าระดับพื้นทั่วไป​ ซึ่งจะทำให้การจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภค​ บริโภคง่ายขึ้น​ สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำจากหนอง​หรือบ่อขึ้นไปเก็บในแท็งก์​  การจ่ายน้ำลงก็จะประหยัดการใช้พลังงาน

ขั้นตอนการสร้างแท็งก์น้ำยักษ์

1. การขุดดินและการทำคานคอดิน

1.1  ปรับพื้นที่ให้เรียบ​ให้ได้ระดับในแนวราบ​ กำหนดขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลาง​ด้วยการหาจุดศูนย์กลางของแท็งก์

1.2  ใช้ไม้หรือเหล็กตอกที่จุดศูนย์กลาง ใช้เชือกคล้องที่หลักศูนย์กลาง​ วาดรัศมีตามขนาดที่ต้องการ

1.3 เมื่อได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแล้ว​ จึงขุดเอาดินด้านในของแท็งก์ออก​ เพื่อให้ฐานของแท็งก์อยู่ลึกลงไปประมาณ 1.5 ม.

1.4  การขุดสามารถทำได้ 2 วิธี​ คือ ใช้คนขุด​ กับใช้รถขุด​ มีข้อแนะนำว่า​ ไม่ว่าจะขุดด้วยวิธีไหน​ ขอให้ขอบของแท็งก์​ เป็นแนวดิ่งตั้งฉาก 90 องศากับระนาบของพื้นดินเสมอ

1.5  ปรับระดับของพื้นให้ได้ระนาบ 180 ​องศา​ ปรับระดับของผนังให้ตั้งฉากกับพื้น

1.6  ขุดดินเป็นร่อง (สี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง) ​โดยรอบวงกลม​ เพื่อทำเป็นคานคอดินรับน้ำหนักของแท็งก์ (ขั้นตอนเดียวกับการทำคานคอดินในกระบวนการก่อสร้างทั่วไป)​ กำหนดจุดที่จะเป็นท่อระบายน้ำ​ ขุดวางท่อขนาด 4 นิ้วให้ลอดใต้คานคอดิน​ โดยให้ปลายที่อยู่ในแท็งก์ใส่ข้องอ 90 องศา​ ต่อท่อโผล่ขึ้นมาประมาณ 30 ซม. (เผื่อตัดปลาย)​

1.7  ใช้ไม้ไผ่แทนเหล็กเสริมคอนกรีต​ แล้วจึงเทปูนซีเมนต์โครงสร้าง

1.8  เมื่อเทปูนซีเมนต์​แล้วให้ใช้ไม้ไผ่ขนาดความยาวประมาณ 2 ม.​ เสียบลงในปูนซีเมนต์ในแนวดิ่ง​ ระยะห่างกัน 50 ซม.​ เพื่อที่จะใช้เป็นโครงสำหรับสานไม้ไผ่ขึ้นไป

2. เทคนิคการขึ้นโครง

2.1  เมื่อเทคานคอดินแล้ว​ ก็ทำการสานไม้ไผ่เป็นตัวเสริมคอนกรีตที่พื้น

2.2 เทพื้นโดยใช้ปูนซีเมนต์โครงสร้างหนาอย่างน้อย​ 15​ ซม.

3. การทำผนังและการก่อฉาบ

3.1​ ผ่าไม้ไผ่เป็นเส้น ๆ​ ความกว้างของแต่ละเส้นประมาณ 3 ซม.​ ลบคมให้เรียบร้อย​ สานชิดกันจากไม้ไผ่ที่ทำการเสียบลงในคอนคอดินไว้แล้ว​ขึ้น​ในลักษณะ​สานกระบุง​

3.2 เมื่อสานไม้ไผ่สูงขึ้น​ ประมาณ​ 1​ ม.ให้ทำการฉาบปูนซีเมนต์ที่ไม้ไผ่​ ให้หนาประมาณ​ 3 ​ซม.​ เพื่อที่จะเป็นแบบสำหรับจะเทปูนซีเมนต์ลงไปเป็นผนังของแท็งก์ (ในช่วงนี้ให้วางท่อน้ำออกผ่านทะลุผนังไว้ด้วย)​

3.3 เมื่อฉาบปูนซีเมนต์แห้งได้ที่แล้ว ให้เทกรอกปูนซีเมนต์โครงสร้างลงไปในช่อง​ระหว่างดินกับผนังไม้ไผ่​ กระทุ้งเสียบ​น้ำปูน​ อย่าให้มีช่องว่าง

3.4​ ค่อย ๆ ทำผนังแท็งก์ขึ้นไปที่ละช่วง​ ช่วงละ 1​ ฟุต​ อย่าทำเกินกว่าช่วงละ​ 1​ ฟุต​ เพราะจะทำให้ผนังไม้ไผ่ที่ฉาบปูนแล้ว​ปริแตกได้


3.5 เมื่อทำผนังโผล่พ้นระดับของพื้นดินเดิม​ บางวิธีก็ใช้ไม้อัดทำเป็นแบบที่ด้านนอกของแท็งก์​ สานไม้ไผ่และฉาบแต่ด้านในของผนัง​ หรือใช้วิธีสานไม้ไผ่ที่ชั้นนอก​แล้วฉาบปูน​ ซึ่งจะทำเป็นแบบสำหรับเทปูนไปในตัว​ และให้ควบคุมลักษณะของทรงกลม​มิให้บิดเบี้ยวได้ดีกว่าการใช้ไม้อัดทำเป็นแบบที่ด้านนอก​

3.6​ ให้สานไม้ไผ่​ ฉาบ​เพิ่มความหนา ตกแต่งผิวเรียบเนียน และกรอกปูนซีเมนต์ขึ้นไปเป็นช่วง ๆ​ ช่วงละ​ 1​ ฟุต​ จนได้ความสูงที่ต้องการ​ มีข้อแนะนำว่า​ แต่ละช่วงของการสานไม้ไผ่และเทปูนซีเมนต์ให้ปรับตรวจดูระดับในแนวระนาบของการเทปูนด้วย​ ไปจนเมื่อถึงระดับที่ต้องการจะทำให้แท็งก์มีขอบบนที่ได้ระนาบ​ดี

3.7​ หากประสงค์จะให้แท็งก์ยักษ์มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น​ ให้นำดินมาเสริมหนุนที่ด้านนอกของแท็งก์​ ก็จะทำให้มั่นคงยิ่งขึ้น

4. การคำนวณปริมาณน้ำ

แท็งก์ยักษ์ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง​ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง​ 7​ ม.​ สูง​ 4.5​ ม.​

สูตรการคำนวณปริมาตรทรงกระบอก = ¶r2h   (พาย x รัศมี2 )  x (ความสูง)  

  • ¶ = 22/7 = 3.14
  • r = รัศมีวงกลม = 3.5
  • h = สูง = 4.5
  • ∴ 3.14 × 12.25 × 4.50 = 173.0925 ลบ.ม. หรือ = 173,092.5  ลิตร

ดังนั้น แท็งก์ยักษ์ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องมีความจุน้ำ 173,092.5  ลิตร

5.​ การทำระบบน้ำเข้าและการระบายน้ำออก

5.1 การทำระบบน้ำเข้าไปเก็บในแท็งก์ยักษ์สามารถนำเข้าด้านบนได้เลย​ แต่ระบบน้ำออกเพื่อนำออกไปใช้นั้น​ ขอแนะนำให้ทำท่อน้ำออกอยู่เหนือพื้นของแท็งก์ประมาณ​ 1 ฟุต​ โดยการวางท่อ PVC ขนาดที่เห็นสมควรผ่านทะลุผนังเพื่อจ่ายน้ำออกไป

5.2​ สำหรับการระบายน้ำออกเพื่อการทำความสะอาด​ ให้ปากของท่อระบายอยู่ต่ำเสมอพื้นของแท็งก์​ ก็จะสามารถขจัดเศษวัสดุ​ หรือตะกอนดินที่จะปรากฏอยู่ก้นแท็งก์ได้ง่ายขึ้น

6. การตกแต่งพื้นที่โดยรอบ

6.1 ทำหลังคาเพื่อป้องกันไม่ให้ใบไม้ปลิวลงแท็งก์ได้ ซึ่งจะทำให้น้ำเสียและยังช่วยลดการระเหยของน้ำ

6.2 ปลูกต้นไม้โดยรอบเพื่อความสวยงามและใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า​

 

ข้อมูลและภาพประกอบ: นายสิทธิพร ลำพุทธา มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ