รวมพลังสานต่อโครงการ “ตามรอยพ่อของแผ่นดินฯ” ปี 2 ชวนคนไทยเดินตามศาสตร์พระราชา ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นเขาหัวจุก
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 2
“ต้นน้ำป่าสักวันนี้วิกฤตมากแล้ว ทั้งข้าวโพด กะหล่ำปลี ลามขึ้นไปจนถึงยอดดอย พวกนี้เป็นเคมีทั้งนั้น แล้วสารเคมีที่ใส่ลงที่ต้นน้ำ มันจะไหลไปไหน มันก็ไหลลงมาที่คนปลายน้ำเป็นคนกินนี่แหละ แล้วดินที่ไม่มีรากต้นไม้ใหญ่ยึดเกาะ ก็ถูกชะหน้าดินไหลลงในคลอง ห้วย หนอง แม่น้ำ ทับถมในเขื่อนป่าสัก ต่อให้สร้างอีกกี่เขื่อนมันก็แก้ไม่ได้ ถ้าป่าต้นน้ำยังเป็นแบบนี้”
จากคำกล่าวของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ แสดงถึงความห่วงใยพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก โดยเฉพาะบริเวณป่าต้นน้ำในเขตเทือกเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ที่นับวันจะเข้าขั้นวิกฤต พื้นที่หลายร้อยไร่ได้ถูกถางเพื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรเชิงเดี่ยว พอหลังฤดูเก็บเกี่ยวเราจะเห็นภาพทะเลภูเขาหัวโล้นไกลสุดลูกหูลูกตา ชาวบ้านเองต่างรู้ว่าการไม่มีต้นไม้ใหญ่เหลือคลุมดินก่อให้เกิดอันตรายแค่ไหน จึงต้องย้ายถิ่นทำกินมาอยู่บนที่สูงห่างไกลลำน้ำมากขึ้น เนื่องจากเคยได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ “บ้านวังก้นหวด” ที่ถูกดินโคลนถล่มจนเกือบราบเรียบเมื่อปี 2548 แต่จะให้พวกเขาทำอย่างไรเมื่อยังจำเป็นต้องทำกินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
นี่จึงเป็นความท้าทายของโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 2 ที่มีเป้าหมายจะช่วยกันฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เชฟรอนประเทศไทย รายการเจาะใจ กองทัพบก จังหวัดเพชรบูรณ์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฯลฯ ร่วมผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนเชิญชวนคนไทยแสดงพลังน้อมนำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ด้านการอนุรักษ์ลุ่มน้ำมาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาดิน น้ำ ป่า คน อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบกิจกรรมการเดินทาง 9 วัน จากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นโมเดลการบริหารจัดการน้ำของบรรพบุรุษที่มีอายุมากกว่า 1,300 ปี ไปยังเทือกเขาต้นน้ำบริเวณ บ้านหินโง่น อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ รวมระยะทางทั้งสิ้น 313 กิโลเมตร
“ขบวนตามรอยพ่อของแผ่นดิน” เริ่มต้นเดินทางด้วยขบวน เดิน วิ่ง และ ปั่นจักรยาน มีอาสาสมัครจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมกว่า 1,500 คน ไปยังโรงเรียนบ้านแควป่าสัก เพื่อสร้างซุปเปอร์มาร์เก็ตอาหารกลางวันแบบพอเพียงให้เด็ก ๆ 3 ตำบลที่อยู่ใกล้เคียง มีการขุดหนองคดเคี้ยวเก็บน้ำและเลี้ยงปลา สร้างโรงเพาะเห็ด เล้าไก่ ปลูกพืชผักสวนครัว โดยในวันนั้นมีจิตอาสาของเชฟรอนและอาสาสมัครภาคประชาชนเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรม วันรุ่งขึ้นไปเรียนรู้การทำรังปลา ทำบ้านปลาด้วยวัสดุธรรมชาติ จากเซียนปลาแห่งบึงสามพัน
ต่อมาขบวนอาสาตามรอยพ่อฯ ไปช่วยกันดำนาในสนามฟุตบอลที่โรงเรียนบ้านท่าเยี่ยม เพื่อจะได้มีข้าวมาเลี้ยงเด็ก ๆ ในโรงเรียน และสอนให้เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้การทำนา อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่ นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการทำพลังงานทดแทนจากต้นยางนา และศึกษาวิธีการทำบ้านดิน กับ “โจน จันได” ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำบ้านดิน
ในการเดินทางครั้งนี้ ทหารของพระราชาจากค่ายพ่อขุนผาเมือง ได้ให้การต้อนรับขบวนตามรอยพ่อฯ อย่างอบอุ่น พร้อมทั้งเปิดบ้านให้ชมความมั่นคงทางอาหารของทหารที่ค่ายฯ หลังจากนั้น ขบวนฯ ได้เดินทางไปโรงเรียนบ้านบง ชมสาธิตการทำพลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์เก่า การยกน้ำจากหนองน้ำขึ้นที่สูง แล้วปล่อยลงคลองไส้ไก่เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนดิน
อีกหนึ่งกิจกรรมที่แสดงพลังสามัคคีของชาวบ้านโคกคือการ “ย่ำขี้ที่บ้านโคก” เพื่อฟื้นฟูสภาพดินคืนชีวิตให้แผ่นดินก่อนการทำนาอินทรีย์ โดยใช้ขี้วัวมาโรยหน้าดิน แล้วใช้แรงคนช่วยกันย่ำ ๆๆ จนเนื้อดินและขี้วัวผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกัน ก็จะได้ดินที่อุดมสมบูรณ์ในการหว่านไถดำนาต่อไป แถมชาวบ้านโคกยังประกาศเจตนารมย์จะทำ โคก หนอง นา ให้ได้ 1,000 ครอบครัว เช่นเดียวกับพ่อบ้านอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายวิเชียร จันทรโณทัย ซึ่งได้ให้สัตยาบันว่าจะน้อมนำศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งขยายผลตามแนวทางการจัดการน้ำภาคประชาชน “โคก หนอง นา โมเดล” และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของ ดิน น้ำ และป่าไม้ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ขบวนตามรอยพ่อฯ สิ้นสุดการเดินทางที่บ้านหินโง่น อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มป่าสัก ภาพที่สะท้อนใจคือ เทือกเขาเพชรบูรณ์ที่ควรเป็นป่าต้นน้ำกลายเป็นเขาหัวโล้นไกลสุดลูกหูลูกตา แม้พื้นที่หลายส่วนมีสีเขียวขจีของต้นข้าวโพด แต่ในความเป็นจริงเป็นเพียง “เขียวหลอกตา” ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกเท่านั้น ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือวิกฤติน้ำท่วมน้ำแล้งที่ส่งถึงคนปลายน้ำ ดังนั้น ภารกิจสำคัญของโครงการรวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินฯ ในปี 2 นี้ คือ การแนะนำชักชวนให้ชาวบ้านรู้ว่า พวกเขาสามารถพออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น ได้ ควบคู่กับการรักษาป่า
นายอินตา วังคีรี และ นายสมชาย ปัญญาประสิทธิ์ 2 เกษตรกรแห่งบ้านหินโง่น ได้ทดลองปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำกินส่วนหนึ่งของตัวเอง สร้างเป็นต้นแบบ “โคก หนอง นา” ตามแนวทางศาสตร์พระราชา โดยมี อาจารย์ยักษ์ มาสอนวิธีทำ และท้าทายวิถีทำเกษตรของชาวบ้านรอบข้าง ด้วยแนวคิดที่ว่า “ทำ 10 ไร่ ได้มากกว่า 200 ไร่” โดยมีคณะอาจารย์และนักศึกษาจากสถาปัตยกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าลาดกระบังฯ มาร่วมศึกษาและออกแบบหาแนวทางแก้ปัญหา เริ่มต้นจากการจัดการระบบน้ำในพื้นที่ให้เกิดความชุ่มชื้นสมบูรณ์ ด้วยการกั้นฝายบริเวณช่องเขา เก็บกักน้ำให้ระดับน้ำสูงเพิ่มมากขึ้น จากนั้นดึงน้ำขึ้นที่สูงด้วยพลังงานทดแทน จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยแผงโซลาร์เซลล์หรือพลังงานลมโดยกังหันลมก็ได้ เพื่อปั๊มน้ำจากฝายขึ้นมาเก็บไว้ในหนองน้ำที่ขุดไว้บนที่สูงขนาดอย่างน้อย 3 ไร่ ก่อนจะปล่อยน้ำไหลลงตามลำเหมืองหรือคลองไส้ไก่ที่ขุดกระจายไว้ทั่วพื้นที่ที่ปลูกข้าวอย่างน้อย 2 ไร่ให้พอกิน โดยทำนาข้าวแบบขั้นบันไดด้วยการยกหัวคันนาให้สูงเพื่อกักน้ำด้วย พื้นที่อีก 2 ไร่ ปลูกพืชไร่เศรษฐกิจแบบเดิมที่เคยทำ ส่วนอีก 2 ไร่ ปลูกป่า 3 อย่าง คือ ไม้พออยู่ ไม้พอกิน ไม้พอใช้ ซึ่งจะให้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ผสมผสานกันให้ทั่วทั้งพื้นที่ และพื้นที่ 1 ไร่ สำหรับการอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการช่วยรักษาดิน น้ำ ป่า ให้กับระบบนิเวศให้สมบูรณ์ด้วย โดยใช้พื้นที่น้อย
อาจารย์ยักษ์ยืนยันว่า ศาสตร์พระราชาด้านการจัดการพื้นที่ทำกินด้วยโมเดลนี้ จะช่วยให้เกษตรกรมีพอกิน พออยู่ และมีรายได้ มากกว่าทำไร่ข้าวโพดหรือพืชเชิงเดี่ยวอื่น ๆ เพียงอย่างเดียวอย่างแน่นอน
ด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะภาคีเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญหนึ่งในโครงการฯ เปิดเผยว่า “การเดินทาง 9 วัน ในปีที่ 2 พบว่าหนทางยาวไกลและลำบากมากขึ้นกว่าเดิม แต่กลับมีสิ่งที่น่ายินดี เมื่อเห็นกระแสตอบรับจากชุมชนดีขึ้นเรื่อย ๆ เราได้เห็นความมุ่งมั่นจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กองทัพบก และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินตามศาตร์พระราชา และช่วยกันฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสักซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่พระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงห่วงมากที่สุด ซึ่งทุกท่านที่ได้ลงมือปฏิบัติก็เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นศาสตร์ที่เข้าใจง่าย ปฏิบัติแล้วได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนที่แท้จริง โดยเฉพาะที่บ้านของคุณอินตากับคุณสมชาย สองฮีโร่ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำกินของตนสร้างต้นแบบโคก หนอง นา เราไปช่วยเขาทำฝายกั้นน้ำ ทำคลองไส้ไก่ ปลูกแฝก ปลูกไม้ 5 ระดับบนภูเขา แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เห็นผลทันที แต่เราเชื่อมั่นว่าต้องทำสำเร็จและเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนโดยรอบได้อย่างแน่นอน”
เช่นเดียวกับพ่อใหญ่ ลุงธีระยุทธ ผลาขจรศักดิ์ อายุ 73 ปี ที่มาร่วมทีมจักรยานตามรอยพ่อกล่าวถึงความภาคภูมิใจจากการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า “ภูมิใจแรก คือเราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรณรงค์เรื่องศาสตร์ของพระราชา ภูมิใจที่สอง ได้มากระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัวในการทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อเราได้เผยแพร่ความรู้นี้ออกไปเหมือนกับเราได้สร้างกุศล โดยไม่ต้องออกสตางค์ เราออกแต่แรงบุญ พวกผมหวังว่า เราปั่นเพื่อให้คนหันมาปลูกต้นไม้ให้เยอะขึ้น ปั่นเพื่อเปลี่ยนความคิดคน และปั่นเพื่อให้ศาสตร์พระราชาขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน”
พลังแห่งความร่วมแรงร่วมใจของผู้คนที่มีความสร้างสรรค์เหล่านี้ จะเป็นพลังผลักดันอันสำคัญให้เป้าหมายการตามรอยพ่อ ในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก สำเร็จได้ในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน