รวมพลังทุกภาคส่วน “ตามรอยพ่อฯ” ปี 3 เชิญชวนร่วมเป็น “หนึ่ง” ในแสนหลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 3
เชฟรอนประเทศไทยฯ จับมือ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กองทัพบก จังหวัดลพบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง เจาะใจ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เดินหน้าฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยศาสตร์พระราชา ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยเครือข่ายอันเข้มแข็งจากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาสองปีสู่การขยายผลแนวคิดการออกแบบพื้นที่ทุกขนาดให้เป็นหลุมขนมครกในแบบของคุณเอง เพื่อบรรลุเป้าหมาย ‘แสนหลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน’ และเชิญสัมผัส “ป่าซับลังกา” แหล่งกำเนิดน้ำหยดแรกให้ลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยขบวนเดินวิ่งปั่นพร้อมดาราดัง เก้า-แพนเค้ก-บอย-ซี 18–26 ก.ค. นี้
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ว่า “เชฟรอนฯ รู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ด้วยการสนับสนุนพลังคนให้สร้างสรรค์และช่วยกันแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทั้ง ดิน น้ำ ป่า ในลุ่มน้ำป่าสักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงห่วงใยมากที่สุด ให้ยั่งยืนด้วยวิธีบริหารจัดการตามศาสตร์พระราชา ช่วงสองปีที่ผ่านมา เราได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ ประชาชน และสื่อมวลชน เกิดเครือข่ายใหม่อันเข้มแข็งที่ต่อยอดจากการลงแรงในปีแรก คือ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ที่ร่วมกับจังหวัดลพบุรี และกรมชลประทานขุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ความจุ 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร โดยปรับรูปแบบหนองน้ำให้ขอบคดโค้ง เกิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในหน่วยทหารที่ขับเคลื่อนร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงอย่างใกล้ชิดจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ค่ายอดิศร จ.สระบุรี ค่ายพ่อขุนผาเมือง จ.เพชรบูรณ์ และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี มีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เคียงข้างออกแบบพื้นที่ต่าง ๆ ตามหลักภูมิสถาปัตย์ให้เป็น ‘หลุมขนมครก’ ที่เก็บน้ำได้ 100% มีผู้ลงทะเบียนขอรับการออกแบบฟรีแล้วถึง 731 ราย มีโรงเรียน ชุมชน และ ‘คนมีใจ’ ต้นแบบ 27 รายที่ลงมือปรับพื้นที่ตามโคก หนอง นา โมเดลแล้ว และพร้อมจะแบ่งปันภูมิปัญญานี้ให้กับอีก 46 รายที่ลงชื่อไว้แล้ว เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ทำให้ลุ่มน้ำอื่น ๆ ตระหนักถึงความสำคัญและเดินตามรอยพ่อ ขยายผลสู่ 12 จังหวัด 18 ลุ่มน้ำ ทั้งลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำปราจีน ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำหลังสวน และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ไม่เว้นแต่พนักงานเชฟรอนฯเอง ก็นำศาสตร์นี้ไปใช้พัฒนาพื้นที่ของตนเอง
ปีนี้ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3 จะจัดกิจกรรมในระหว่างวันเสาร์ที่ 18 ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม เริ่มต้นจาก โรงเรียนสงครามพิเศษ ไปยังป่า ‘ซับลังกา’ อันเป็นป่าต้นน้ำของ ลำสนธิไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นป่าสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคกลาง ระยะทางรวม 433 กิโลเมตร โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจด้านออกแบบที่ดินเพื่อการจัดการน้ำที่เรียกว่า ‘หลุมขนมครกในแบบคุณ’ ซึ่งประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ทุกขนาด ทั้งใหญ่ กลาง เล็ก ตั้งแต่ 20 ตารางวาขึ้นไป เพื่อให้ทุก ๆ คน เชื่อมั่นได้ว่าสามารถมี ‘หลุมขนมครก’ ที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้ และเนื่องในปีดินสากลโครงการจึงได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม เราจะได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่อง “ดิน” อันเป็นแหล่งกำเนิดอาหารและที่ทำกินของเกษตรกรอีกด้วย และเพื่อเป็นการติดตาม กระตุ้น หนุน เสริม ให้กำลังใจแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ทำหลุมขนมครกในพื้นที่ของตนเอง ในพิธีสรุปผลโครงการฯ ประมาณเดือนตุลาคมปีนี้ เกษตรกรจะได้นำผลผลิตทางการเกษตร ข้าว พืชผัก ผลไม้ จากวิถีเกษตรอินทรีย์ และหลักกสิกรรมธรรมชาติ มาเผยแพร่ แจก และจำหน่าย โดยจะจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลสำเร็จของโครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลัง ตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ให้เป็นที่รับรู้มากยิ่งขึ้น”
ด้าน ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำป่าสักด้วยศาสตร์พระราชาว่า “โมเดลการขับเคลื่อนภาคประชาชนใน ‘โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ประสบความสำเร็จมากจนสามารถนำเสนอเป็นหนึ่งในโมเดลเพื่อถอด "กระบวนการและกลไกการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม" ในคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับโมเดลอื่น ๆ อาทิ โมเดลแม่ทา โมเดลนาแลกป่า ป่าแลกนาของป่าต้นน้ำลุ่มน้ำมีด โดยโครงการตามรอยพ่อเน้นความร่วมมือของ 5 ภาคี และการขยายผลโดยสื่อมวลชน ซึ่งแตกต่างจากโมเดลอื่น ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำข้อเสนอปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และจะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต
ผลจากการขยายผลตัวอย่างรวดเร็วของโครงการฯ ทำให้สถาบันฯ ได้เปิดหลักสูตรอบรมการออกแบบที่ดินเพื่อการจัดการน้ำ (ภาคทฤษฎี) ขึ้น โดยอบรมเป็นระยะเวลา 3 วัน ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ได้เปิดอบรมไปแล้ว 2 รุ่น และพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ ลาดกระบัง เปิด “หลักสูตรการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ" (ทฤษฎีและปฏิบัติ 5 วัน)
เปิดอบรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 - 31 พ.ค. นี้ ที่ชุมชนต้นน้ำน่าน จ.น่าน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมมากกว่า 80 คน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 40 คน โดยผู้ที่ต้องการเข้าร่วมเป็นหนึ่งหลุมขนมครก จะประกบคู่กับนักศึกษาคณะสถาปัตย์และอาสาสมัครสถาปนิก ร่วมกันออกแบบพื้นที่และฝึกปฏิบัติจริง เมื่อจบหลักสูตรจะได้รับทั้งประกาศนียบัตรและแบบร่างหลุมขนมครกของพื้นที่ตัวเองกลับไป เป็นหลักสูตรใหม่ที่กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นจากก้าวแรกของโครงการนี้ และที่สำคัญทั้งสองสถาบันยังมีการเซ็น MOU ร่วมกัน และการเปิดศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ (Integrated Technology Operation KMITL-ITOK) เพื่อพิสูจน์ศาสตร์พระราชาด้านการจัดการดิน น้ำ ป่า ด้วยงานวิจัยเชิงวิชาการที่ได้มาจากการปฏิบัติจริง นับเป็นการปฏิรูปภาคปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงแล้ว”
ด้าน นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ในฐานะเจ้าบ้าน กล่าวว่า “รู้สึกยินดียิ่งที่โครงการฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสักขึ้นในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ในฐานะเจ้าบ้านฯ ขอทำหน้าที่ต้อนรับแทนคนลพบุรีทุกคน จากการที่ได้ติดตามโครงการฯ มาตลอด เห็นถึงความตั้งใจจริง การทำงานอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุน ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดลพบุรีเองก็มีแนวคิดน้อมนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาปฏิบัติ คือการขุดบ่อน้ำในพื้นที่ลพบุรี ตั้งเป้าหมาย ‘1 บ้าน 1 บ่อ’ เพื่อให้ทุกบ้านมีบ่อน้ำเป็นของตัวเอง ป้องกันปัญหาภัยแล้งและเพื่อสนองตอบต่อพระราชดำรัสเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”
พลตรีธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ (ค่ายเอราวัณ) ได้กล่าวถึงภารกิจทหาร นอกเหนือจากด้านการป้องกันประเทศ คือการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการทรัพยากรธรรมชาติว่า “ภารกิจของทหารนอกจากการปกป้องอธิปไตยของชาติแล้ว ก็ยังมีภารกิจสำคัญด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และโครงการตามพระราชดำริด้วย และสืบเนื่องจากเมื่อปี 2556 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้มีโอกาสรับชมละครเฉลิมพระเกียรติ “เย็นศิระน้ำพระทัย” ที่นำเรื่องราวมาจากโครงการ และได้สั่งการให้หน่วยทหารทุกหน่วยส่งกำลังพลเข้ารับการอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง โดยมีภารกิจสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในทุกหน่วยทหาร ซึ่งหน่วยฯ ก็ได้ส่งกำลังพลเข้าอบรมและกลับมาสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ค่ายเอราวัณ ได้ฝึกอบรมให้กับประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียง เป็นจำนวน 3 รุ่น และนอกจากนั้นยังได้ดำเนินงานร่วมกับจังหวัดลพบุรี และกรมชลประทาน ขยายพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยกระแทก ให้สามารถจุน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านลูกบาศก์เมตร”
ส่วน ผศ. พิเชษฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่สถาปนิก นำความรู้มารับใช้ชาวนา ช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ นับเป็นมิติใหม่ของการศึกษาไทย สถาบันฯ เห็นความสำคัญของการนำงานวิจัยลงสู่การแก้ไขปัญหาชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ด้านภูมิสังคม จึงได้เซ็น MOU ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อทำงานร่วมกัน เริ่มจากอธิการบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้าไปทำงานร่วมกับ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จนสามารถนำความรู้ด้านการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตย์เข้าไปประยุกต์ใช้ได้อย่างสมบูรณ์ นำไปสู่การเปิด ‘ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ Integrated Technology Operation (ITOK)’ โดยจะทำงานร่วมกับ GISTDA เพื่อนำข้อมูลด้านเทคโนโลยี มาผสานกับศาสตร์ของในหลวง และภูมิปัญญาท้องถิ่น ลงสู่การปฏิบัติ เป็นศูนย์ข้อมูลระดับประเทศที่มุ่งเพื่อนำงานวิชาการลงสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ด้านนางรติวัลคุ์ ศรีมงคลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ผู้ผลิตรายการ ‘เจาะใจ’ กล่าวว่า “ในฐานะที่ เจ เอส แอลฯ เป็นสื่อที่มุ่งมั่นนำเสนอเรื่องราวที่ดีมีประโยชน์ต่อผู้ชม จึงสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงช่วยจุดกระแสสังคมให้ตื่นตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ศิลปินนักแสดงที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมได้แก่ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และเก้า-จิรายุ ละอองมณี ที่ต่างมีความเข้าใจในโครงการมากขึ้น ๆ จนลงมือทำเอง รายการจะติดตามภาพเหตุการณ์แบบเรียลลิตี้ เกาะติดตลอดเส้นทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อนำมาออกอากาศในรายการเจาะใจ จำนวน 3 ตอน คือ วันพฤหัสบดีที่ 11, 18 และ 25 กันยายน 2557 เวลา 22.20 น. ทางช่อง ONE ซึ่งมีฐานผู้ชมเป็นคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน”
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3 เชิญชวนบุคคลและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมลงมือทำตามศาสตร์พระราชา เพื่อให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็นต้นแบบลุ่มน้ำแห่งการจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า-คน อย่างยั่งยืน ระหว่างวันเสาร์ที่ 18 ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคมนี้ ติดตามรายละเอียดทางเฟซบุ๊ค www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking