“ตามรอยพ่อ” ปี 3 รวมพลังทำ “หลุมขนมครก” ในแบบของตัวเอง ตามศาสตร์พระราชา สู้ภัยแล้ง – ท่วม ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 3
สายฝนอันโปรยปรายฉ่ำเย็นในช่วงเวลานี้ ช่วยบรรเทาความแห้งแล้งและเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวนาไทยได้ช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากประเทศไทยเผชิญวิกฤตภัยแล้ง อย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา หากแต่เราไม่อาจวางใจได้เลย ด้วยนักวิชาการคาดการณ์ไว้ว่าปรากฎการณ์เอลนิโญจะยืดเยื้อยาวนานถึง 3 ปี และน้ำที่เติมเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ก็ยังไม่ถึงร้อยละ 40 ซึ่งคาดได้ไม่ยากว่าช่วงฤดูแล้งปีหน้าอาจจะต้องเผชิญกับภัยแล้งอีกครั้ง วันนี้ถึงแม้รัฐบาลจะเร่งหาแนวทางแก้ไขและเยียวยาปัญหาภัยแล้ง จึงไม่สำคัญเท่าเกษตรกรชาวนาหรือแม้กระทั่งคนในเมือง ควรต้องลุกขึ้นมาลงมือและแก้ปัญหาด้วยตนเอง
แนวทางหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเคยพระราชทานไว้ คือ การทำ “หลุมขนมครก” ในพื้นที่ของตนเอง พระองค์ท่านทรงเปรียบเทียบลุ่มน้ำป่าสักที่ทรงห่วงมากที่สุดเป็นถาดขนมครกขนาดใหญ่ ถ้าแต่ละครัวเรือนปรับพื้นที่ทำกินของตนเองให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในทุกรูปแบบ ทั้งบนดิน ใต้ดิน ในตุ่ม หรือในแทงค์น้ำ ก็เปรียบเสมือนเป็นหนึ่งหลุมขนมครกในถาดใหญ่ ที่จะมีน้ำใช้น้ำกินอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ไม่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตภัยแล้งเหมือนอย่างปีนี้ และยังช่วยชะลอน้ำไว้ไม่ให้ไหลท่วมลงปลายน้ำที่กรุงเทพฯเหมือนเมื่อปี 2554 โดยพื้นที่ทุกขนาดไม่ว่าจะไม่กี่ตารางวา หรือหลายสิบไร่ ก็สามารถทำ “หลุมขนมครก” ในแบบของตัวเอง ให้เหมาะแก่การใช้งานได้เช่นกัน
สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รายการเจาะใจ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ผนึกกำลังกันเดินหน้าโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ต่อเนื่องเป็น ปี 3 โดยมีเป้าหมาย “แสนหลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน” ด้วยการออกเดินทางเป็นขบวนรณรงค์ ทั้งการเดิน วิ่ง และปั่นจักรยาน เพื่อร่วมเรียนรู้และชวนกันลงมือทำ “หลุมขนมครก” ตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก และเป็นต้นแบบขยายผลไปยังลุ่มน้ำอื่นทั่วประเทศ โดยปีนี้เดินทางไปยังจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบ “ภัยแล้ง” เริ่มต้นจากโรงเรียนสงครามพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ขึ้นไป จ.เพชรบูรณ์ ถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี รวมระยะทาง 433 กิโลเมตร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอด 9 วัน ทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไปเดินทางจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ พนักงานเอกชน เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ทหาร ข้าราชการ ครู นักเรียน ลูกเสือชาวบ้าน พระสงฆ์ สื่อมวลชน ประชาชน และคนมีใจในพื้นที่ รวมพลังกันมากกว่า 4,000 คน ซึ่งรวมทั้งเยาวชนต่างชาติจากฝรั่งเศสและภูฏานที่สนใจเดินทางมาเรียนรู้การทำ “หลุมขนมครก” เพื่อนำกลับไปใช้แก้ปัญหาในประเทศของตน โดยมีดารานักแสดง แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และเก้า-จิรายุ ละอองมณี เป็นตัวแทนนำลงมือทำกิจกรรม
กิจกรรมในปีนี้ เน้นการเรียนรู้และลงมือแก้วิกฤตน้ำแล้ง ด้วย “หลุมขนมครก” ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และออกแบบได้ด้วยตัวเอง โดยทีมสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ช่วยสอนหลักการออกแบบพื้นที่ตามภูมิสังคม คือ การดูตัวแปร 5 ประการคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และ คน แล้วออกแบบให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ ไม่ว่าจะขนาดใหญ่เกินกว่า 10 ไร่ขึ้นไป ขนาดกลาง หรือขนาดเล็กเพียงหลักตารางวา เช่น บ้านเรือนที่อยู่ในเมือง ก็สามารถทำเป็นหลุมขนมครกได้ และไม่ว่าภูมิประเทศจะเป็นที่ราบลุ่ม ที่เชิงเขา ที่บนเขา รวมถึงความต้องการประโยชน์ใช้สอยของเจ้าของพื้นที่ ว่าเน้นปลูกพืชทำกินชนิดใดเป็นหลักหรือจะปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อให้แต่ละคนออกแบบ “หลุมขนมครกในแบบของคุณ” ได้ เพียงมีแบบร่างโฉนดที่ดินและรู้ว่าทิศเหนืออยู่ด้านไหนก็สามารถออกแบบได้เอง
กิจกรรมรวมพลังตามรอยพ่อในปีนี้มีการพาไปชมตัวอย่าง “หลุมขนมครก” ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์แม้ยามเผชิญวิกฤตภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น บ้านลุงประเสริฐ ขวัญเผือก เกษตรกรต้นแบบความสำเร็จในการดำรงชีวิตอยู่บนวิถีแห่งความพอเพียง และด้วยความเพียรจึงทำให้อยู่รอด ปลอดหนี้ ลุงประเสริฐ เล่าว่า “ภัยแล้งไม่ส่งผลกระทบให้สวนกล้วย 10 ไร่ ของลุงหรอกครับ เพราะลุงทำตามศาสตร์พระราชา ที่ดินของลุงอยู่ติดแม่น้ำป่าสัก ลุงขุดคลองไส้ไก่เพื่อลำเลียงน้ำให้กระจายเข้าทั่วพื้นที่ ถ้าฝนไม่ตก 3 ปี ลุงก็ยังมีน้ำใช้ปลูกกล้วย เพราะลุงมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ในสวน และไม่อดน้ำกินด้วยเพราะมีโอ่งขนาดใหญ่เก็บน้ำฝนหลายสิบโอ่ง ลุงเคยทำมาหลายอย่าง ทั้งเลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เพาะเห็ด ก็มีช่วงจังหวะที่ดีและไม่ดีบ้าง เป็นหนี้สินจนเราคิดได้ว่าเราตกเป็นเครื่องมือหรือเป็นฟันเฟืองให้กับพวกนายทุน เลยขายทุกอย่าง มาเริ่มต้นปลูกกล้วยพันกว่าต้นด้วยตัวคนเดียว เพราะภรรยาลุงไม่ค่อยสบาย ก็ค่อย ๆ ลงมือทำ แดดกลางวันร้อนเราก็ทำกลางคืนแทน ทุกวันนี้พออยู่พอกิน ไม่เป็นหนี้ใคร สบายใจขึ้นเยอะครับ”
นอกจากนั้นยังร่วมกันลงมือทำ “หลุมขนมครก” หลากหลายรูปแบบในพื้นที่ของคนมีใจ เช่น การขุดคลองไส้ไก่รูปเลข ๙ บนที่ดินทำกิน 19 ไร่ของผู้ใหญ่อ้อย อุทุมพร สุขแพทย์ ผู้เป็นเจ้าของรถแบคโฮนับ 10 กว่าคัน จนนับได้ว่าเป็นหลุมขนมครกที่เฟี้ยวฟ้าวที่สุด “เคยทำนาเคมี แต่ลูกน้องป่วยเพราะสารเคมี เลยคิดได้ว่า ไม่อยากให้คนที่กินข้าวเรามาตายผ่อนส่งเพราะข้าวเรามีเคมีปนเปื้อน หลังจากที่ได้เข้าอบรมที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นรุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นเครือข่ายต่อยอดจากโครงการรวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน เลยหันมาทำตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ของพ่อหลวงอย่างจริงจัง พร้อมทั้งปรับพื้นที่ใหม่ให้เป็นหลุมขนมครก มีหนองน้ำ ขุดคลองไส้ไก่คดโค้ง จนทำให้ช่วงวิกฤตภัยแล้งที่ผ่านมา เรามีน้ำเพียงพอแบ่งปันชาวบ้านอื่น ๆ ให้มาอาบมาใช้ และเรายังสามารถปลูกข้าว ปลูกกล้วย พืชผักสวนครัว ที่เก็บขายได้วันละ 7-800 บาทด้วย”
ส่วน “หลุมขนมครก” ที่ได้รับความสนใจมาก คือ บ้านนางมาลัย คุ้มทอง ซึ่งมีพื้นที่เพียง 120 ตร.วา ฉีกข้อจำกัดในเรื่องขนาดพื้นที่ว่าไม่ต้องใหญ่แบบหลายไร่ ก็สามารถเก็บกักน้ำได้ โดยอาศัยเนินเขาหลังบ้านทำฝายชุ่มฉ่ำ ขุดคลองไส้ไก่นำน้ำจากฝายเก็บไว้ในบ่อเล็ก ๆ ใกล้แปลงน้อยพอกิน และทำสวนแนวตั้งสร้างความชุ่มชื้น เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า พื้นที่จำกัดขนาดไหนแม้อยู่ในเมืองใหญ่ก็สามารถทำ “หลุมขนมครก” ได้ เช่นเดียวกัน คล้ายกับโมเดลของบ้านพี่มาลัยนี่เอง
นอกจากนี้ยังพาไปทำซูเปอร์มาร์เก็ตหรือการสร้างแหล่งอาหารจาก “ดินตะกอนทองคำ” ซึ่งเป็นดินที่ได้จากตะกอนของแม่น้ำป่าสักที่ไหลมารวมทับถมอยู่ในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่นับว่ามีสารอาหารอุดมสมบูรณ์มาก เรียนรู้เรื่องศาสตร์การจัดการดินด้วยน้ำหมักชีวภาพ 7 รสที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโคกเจริญ การร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาชาวนาไทย รวมทั้งผนึกกำลังกับชาวบ้านแควป่าสัก ลงแขกทำ “หลุมขนมครก” ด้วยการใช้ขี้วัวยาก้นบ่อกันน้ำรั่วซึม ขุดคลองไส้ไก่ เพื่อรับมวลน้ำที่กำลังไหลบ่าหลากมาจากต้นน้ำป่าสัก ทั้งยังช่วยกันปลูกป่าเปียกสร้างแนวกันไฟให้กับป่าชุมชน ในวันสุดท้ายของการเดินทาง ขบวนตามรอยพ่อฯ มุ่งหน้าสู่ “ป่าซับลังกา” ป่าสมบูรณ์ผืนสุดท้าย ของภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำหยดแรกที่ไหลลงเขื่อนป่าสักฯ จึงเป็นแหล่งต้นน้ำอันสำคัญและสร้างความชุ่มชื้น โดยช่วยกันสร้างฝายและทำโป่งเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งการรักษาป่า คือการรักษาหลุมขนมครกขนาดใหญ่ เพราะป่าคือแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ดีที่สุด
ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เรามีแนวทางแก้ไขและจัดการได้อย่างยั่งยืน ขอเพียงให้มีสติและเชื่อมั่นในแนวทางของพระองค์ท่าน ความขาดแคลนไม่ใช่ปัญหา ถ้ามีปัญญาและความอดทน ปีนี้เราเน้นการถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านสามารถออกแบบและลงมือทำ “หลุมขนมครก” ได้ด้วยตนเองในพื้นที่ทุกขนาด และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มตระหนักและเห็นประโยชน์จนเป็นฝ่ายเข้ามาขอให้เราช่วยแก้ไขปัญหา เช่น โรงเรียนบ้านแควป่าสักซึ่งต้องการเก็บน้ำที่กำลังหลากลงมา จึงได้เห็นพลังความร่วมมือมือร่วมใจของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ความสำเร็จของลุ่มน้ำป่าสักกำลังเป็นแบบอย่างให้ลุ่มน้ำอื่น ๆ ตื่นตัวและลงมือทำตามอย่างจริงจังแล้ว เช่นที่ พิษณุโลก สิงห์บุรี ระนอง น่าน ชัยนาท เชียงใหม่ นครนายก ราชบุรี สุรินทร์ และมีผู้ลงทะเบียนออกแบบพื้นที่ให้เป็นหลุมขนมครกแล้วประมาณ 831 ราย จึงขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุนและรวมพลังกันอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาจะสำเร็จผลอย่างแน่นอน”
ด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะภาคีเอกชนที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปี กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 3 ปี ในการดำเนินโครงการ ผมได้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการที่สะท้อนมาจากพลังของทุกภาคส่วนที่ได้เติบโตและขยายตัวมากขึ้นทุกปี ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นการเติบโตที่สวยงามเช่นนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี และรู้สึกยินดีที่ตัวผมเองพร้อมทั้งครอบครัวได้เข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงพลังของจิตอาสาของชาวเชฟรอนเองที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมและบอกต่อ พร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจผนึกกำลังร่วมกับจิตอาสาจากภาคส่วนอื่น ๆ แม้ว่าเส้นทางและความท้าทายต่าง ๆ จะมีเข้ามาแตกต่างกันในแต่ละปี เช่น วิกฤตภัยแล้งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แต่ทุกคนได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการน้อมนำคำสอนของพระเจ้าอยู่หัว ร.9 มาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อช่วยในการจัดการดิน น้ำ ป่าอย่างยั่งยืน”
สามารถเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในการบริหารจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า-คน อย่างยั่งยืน และรู้จัก “หลุมขนมครก” ให้มากขึ้น กับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3 ทาง Facebook ‘รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ และรายการเจาะใจ ออกอากาศวันศุกร์ที่ 11, 18 และ 25 กันยายน 2558 เวลา 22.20 น. ทางช่อง ONE ส่วนผู้ที่สนใจจะลงทะเบียนออกแบบ “หลุมขนมครก” ในพื้นที่ของตน ติดต่อที่ e-mail : agrinature09@gmail.com
เป้าหมาย “แสนหลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน” คงอยู่ไม่ไกลเกินไปนัก ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำหลุมขนมครกในแบบของคุณไม่ว่าจะมีพื้นที่เท่าไหร่ก็ตาม เพื่อสู้กับวิกฤตน้ำที่รุนแรงขึ้นทุกปี และที่สำคัญมาช่วยกันทำเพื่อ “พ่อ” จะได้หายเหนื่อยเสียที....